วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

หลักในการฝึกสุนัข


หลักในการฝึกสุนัข




                 หลักการสำคัญของการฝึกสุนัขไม่ว่าจะเป็นสุนัขทุกชนิดทุกพันธู์มีการฝึกที่เหมือนกัน อาศัยหลักการฝึกอันเป็นรากฐานสำคัญ 3 ประการคือ

1.ความตั้งใจจริง
                  ผู้ฝึกสุนัขที่ดีจำเป็นต้องมีความตั้งใจอย่างจริงจังในการฝึก โดยต้องมีความอดทน และความพากเพียรต่อความยุ่งยากลำบากนานาประการ เพราะวิธีการที่สุนัขจะได้เรียนและเกิดความชำนาญได้ก็คือการปฏิบัติซ้ำๆซากๆ ฝึกสอนสุนัขซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนสุนัขเข้าใจและปฏิบัติตามคำสั่ง ผู้ฝึกจะต้องมีความสุขุมเยือกเย็น ใช้น้ำเสียงที่ประกอบด้วยความเมตตากรุณาและจิตใจสูงพอที่จะเข้าใจได้ว่า สุนัขจะไม่สามารถทำอะไรได้ทุกสิ่งทุกอย่างได้เหมือนมนุษย์

2.ความขยันหมั่นเพียร
                  คุณสมบัติของผู้ที่จะทำการฝึกหัดสุนัขมักจะเสียไป ทำให้การฝึกสุนัขไม่ได้ผลและทำให้เกิดความเบื่อหน่ายไปในที่สุด ได้แก่การขาดความขยันหมั่นเพียรและไม่เอาจริงเอาจังนั่นเอง การฝึกสุนัขให้ปฏิบัติอย่าเดียวกันซ้ำๆซากๆ จนกระทั่งสุนัขทำได้ถูกต้องเรียบร้อย เป็นงานที่ต้องบังคับใจตนเองอย่างมาก เมื่อผู้ฝึกเกิดอารมณ์เสียแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะบังคับใจตัวเองได้ สิ่งนี้จะทำให้สุนัขเกิดความสับสน จึงควรเข้าใจว่า การฝึกสุนัขนั้นจะได้ผลก็ต่อเมื่อผู้ฝึกมีความขยันหมั่นเพียร ทำการฝึกสุนัขทุกๆวันตามเวลาโดยเข้มงวดเท่านั้น

3.ความรู้ในการฝึก
                  การฝึกสุนัขนั้นก็เหมือนกับการปฏิบัติงานอื่นๆ ผู้ฝึกจะต้องมีความรู้ความเข้าใจวิธีการฝึก แบบของการฝึก และให้บทเรียนที่ถูกต้องแก่สุนัขทีละขั้นจากบทเรียนง่ายๆ ไปหาบทเรียนที่ค่อยๆยากขึ้นไปตามลำดับ

ประสงค์ สุวรรณมงคล. "หลักการฝึกสุนัข" ใน ความรู้เกี่ยวกับการฝึกสุนัข หน้า 43-44. นนทบุรี . สำนักพิมพ์แพค.                     2545.

หลักการฝึกสุนัขโดยละเอียด(Principles of Training)



                  ถ้าจะให้การฝึกสุนัขได้ผลดี ผู้ฝึกต้องมี ต้องรู้ ต้องหา ต้องใช้ ต้องทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการฝึกสุนัขหลายประการ เช่น

1.รู้วิธีการฝึก รู้ว่าฝึกอย่างไร (Know-how)



                   ผู้ฝึกพร้อมสุนัขควรอยู่ในลักษณะท่าใด ตำแหน่งใด วิธีการเคลื่อนย้าย การใช้คำสั่ง การแก้ไข การปฏิบัติควรหนักเบา เน้นอะไร ฯลฯ การฝึกสุนัขก็เหมือนการปฏิบัติงาน ผู้ฝึกจะต้องมีความรู้จริง รู้ท่องแท้ รู้ทันสุนัขที่ท่านฝึก เข้าใจวิธีการฝึก ท่าทางของการฝึก อ่านสุนัขออกว่าสุนัขที่ท่านฝึก เข้าใจวิธีการฝึก ท่าทางของการฝึก อ่านสุนัขออกว่าสุนัขชอบหรือมีนิสัยอย่างไร ให้สอนบทเรียนที่ถูกต้อง จากง่ายไปหายาก

2.การทำซ้ำ (Repetition)

                    การฝึกสุนัขมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำท่าเดิมซ้ำบ่อยๆ และต้องใช้คำสั่งเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกว่าสุนัขจะทำได้เข้าใจ หรือปฏิบัติตามคำสั่งได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวดเร็ว ผู้ฝึกจะต้องฝึกให้สุนัขทำซ้ำๆซากๆ จนเกิดทักษะ ความชำนิชำนาญ ทำได้รวดเร็วและทำได้เป็นระเบียบเรียบร้อยดีในที่สุด ไม่กระทำผิดใดๆ การที่ผู้ฝึกให้สุนัขทำซ้ำๆ จะต้องเน้นให้สุนัขทำแล้วไม่เป็นอันตราย ทำแล้วเกิดความสุขใจ หากไม่มีความจำเป็น ไม่ควรบังคับขู่เข็ญให้สุนัขไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ทำแล้วไม่มีความสุขมากนัก หรือทำในสิ่งที่เกินขีดความสามารถของสุนัขจะทำได้

3.ความอดทน (Patience)

                     เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการฝึกสุนัขซึ่งเป็นสัตว์ ผู้ฝึกจะให้สุนัขทำตามคำสั่งหรือปฏิบัติำด้ถูกต้อง ได้นั้นเป็นเรื่องยาก เพราะสุนัขไม่รู้จักภาษามนุษย์ ไม่รู้จักสัญญาณมือที่ใช้มาก่อนผู้ฝึกต้องอาศัยความอดทนอย่าใส่อารมณ์กับสุนัขในขณะที่ทำการฝึกเป็นอันขาด ผู้ฝึกต้องมีความอดทนสูงมากๆ ค่อยๆ ฝึกหัดไปอย่าใจร้อน อย่ามีอารมณ์ที่ไม่ดี ซึ่งจะทำให้ขาดการบังคับตนเอง จงพยายามทำแต่ละท่าด้วยความตั้งใจขยันหมั่นเพียร เอาจริงเอาจัง ฝึกสุนัขด้วยความเสมอต้นเสมอปลาย คงเส้นคงวา หากขาดความอดทน ก็จะเป็นบ่อเกิดแห่งความสับสนผิดพลาด เสียหาย ไม่สำเร็จได้โดยง่าย ผู้ฝึกต้องหมั่นฝึกฝน มีจิตใจที่แน่วแน่ อดทนเข้าไว้ ไม่ช้าก็เร็วรับรอง จะต้องประสพผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน

4.การชมเชย หรือการยกยอ (Praise)

                 เมื่อสุนัขทำได้ถูกต้องให้ชมเชยสุนัขด้วยเสียงยุ่มยวล อ่อนหวานน่าฟังเสมอ รู้จักใช้วิธีเร้าอารมณ์ ให้ชมยกยอสุนัขอย่างเต็มที่ เมื่อสุนัขทำถูกต้องให้ชมเชยมากๆ โดยใช้คำสั่งชมเชยว่า "ดีมาก-ดี" , “ดีลูก-ดี" , “เก่ง-มาก" ฯลฯ การใช้คำสั่งชมเชยสุนัขนั้นควรแสดงถึงความจริงใจ ความเมตตาปราณี อ่อนโยน สุภาพ สุนัขย่อมรู้ว่าใครรักจริง รักไม่จริง

5.การแก้ไข (Correction)



                  เพื่อที่จะปรับปรุงดัดแปลงแก้ไขให้สุนัขทำได้ถูกต้อง ทำได้ดียิ่งขึ้น ผู้ฝึกต้องทำการแก้ไขทันทีที่สุนัขทำผิด หรือเฉยเมยไม่ทำตามคำสั่ง ผู้ฝึกจะต้องไม่ยอมให้สุนัขทำผิดแล้วปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่มีการแก้ไข สิ่งสำคัญคือระยะเวลาในการแก้ไข ต้องทำการแก้ไขทันที รีบลบล้างพฤติกรรมที่ผิด ที่ไม่พึงปรารถนาออกไปเสีย สิ่งที่ผิดรีบทำการแก้ไขให้ถูกต้อง ถ้าไม่ทำการแก้ไขทันทีสุนัขจะไม่รู้ว่าเขาทำผิดอะไร

6.ความตั้งใจ (Willingness)

                   การฝึกสุนัขจำต้องมีความตั้งใจจริง จริงจังในการฝึกเป็นอย่างมาก เพระาสุนัขบางตัวกว่าจะฝึกเป็น กว่าจะนำมาใช้งานได้ ต้องมีปัญหามีอุปสรรคความยุ่งยากนานัปการ ถ้าผู้ฝึกขาดความตั้งใจจริงก็อาจทำให้เลิกฝึกกลางคัน หรือฝึกไม่สำเร็จได้ง่ายยิ่งขึ้น ผู้ฝึกที่ดีไม่ควรทอดทิ้งการฝึกแบบครึ่งๆกลางๆ หรือคาราคาซัง หากผู้ฝึกไม่ยอมฝึกสุนัขให้จบ และให้ผู้ฝึกคนใหม่มาฝึกแทน ซึ่งเสียเวลามาทำความคุ้นเคยกันใหม่อีก

7.ความรัก ความเมตตาปราณี (Kindness)



                    สิ่งนี้นับเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเจริญทางด้านจิตใจของผู้ฝึก ผู้ฝึกต้องมีความรักใคร่เอ็นดูเมตตาปราณีให้กับสุนัขอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ใช่รักเมตตาชั่วครู่ ชั่วยาม ตอนอารมณ์ดี พอเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเบื่อหน่าย หรืออารมณ์ไม่ดีแล้ว มาระบายกับสุนัข หรือไม่มาสนใจดูแลเลย ซึ่งอาจทำให้สุนัขเกิดความสับสน หว้าเหว่ ซึมเศร้าเสียหมาได้ และขณะที่ทำการฝึก ผู้ฝึกจงอย่าได้ประมาท หรือพลั้งเผลอทำการลงโทษสุนัขที่ผิดหลักการ โหดร้ายทารุณ เมื่อสุนัขขัดขืนดื้อรั้น หรือกระทำผิด เพราะไม่เข้าใจ ไม่รู้ที่ต่ำที่สูง ผู้ฝึกควรระงับอารมณ์ จงฝึกด้วยความรักเมตตาปราณี หากขาดสิ่งนี้การฝึกสุนัขจะไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จที่ดีมีความแนบเนียนได้เลย เปรียบเสมือนครูไม่รักศิษย์ จะสอนให้ได้ดีได้อย่างไรกัน

8.ความฉลาด (Intelligence)

                    ไม่่ว่าจะเป็นคนหรือสุนัขต่างก็มีความเฉลียวฉลาด มีขีดความสามารถแตกต่างกัน สุนัขบางตัวมีความฉลาดมีความสามารถสูง ซึ่งเป็นคุณลักษณะเด่นที่ผู้ฝึก และทุกคนต้องการ สุนัขตัวที่มีความเฉลียวฉลาดมีความจงรักภักดี

9.ความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ฝึก (Physicial and Mental Readiness)

                     หากผู้ฝึกมีร่างกายไม่สมบูรณแข็งแรงเป็นโรคติดต่อ เช่นเป็นไข้หวัด ไม่ควรทำการฝึก เพราะขณะทำการฝึก ไข้หวัดจากผู้ฝึกอาจติดต่อไปถึงสุนัขได้ หากได้ผู้ฝึกที่มีร่างกายอ่อนแอฝึกสุนัขได้วันละนิดละหน่อย สุนัขจะเป็นจะเก่งก็คงยาก ต้องใช้เวลายาวนาน

10.เสียงที่ใช้ฝึก (Noise)

                     ผู้ฝึกควรใช้เสียงที่เหมาะสม คำสั่งควรชัดเจน เสียงของผู้ฝึกมีอิทธิพลสามารถบังคับสุนัขได้ การฝึกสุนัขแต่ละตัวแต่ละพันธุ์ แต่ละขนาด จะมีนิสัยแตกต่างกันไป สุนัขบางตัวชอบเสียงเบาๆ เสียงนุ่มนวล ถ้าผู้ฝึกใช้เสียงดังมากๆ สุนัขอาจจะตกใจ หวาดกลัว บางครั้งอาจจะวิ่งหนี หรือทำตามคำสั่งด้วยความระแวงหวาดกลัว รนรานไม่เป็นธรรมชาติ การฝึกสุนัขโดยปกติผู้ฝึกจะบังคับสุนัขโดยใช้สายจูง สัญญาณมือ สายตา และเสียงบังคับสุนัขให้ทำตามคำสั่ง การใช้คำสั่ง เสียงที่ใช้ควรชัดเจน เสียงควรมีระดับสูงต่ำหนักเบาต่างกัน

11.เวลา (Time)

                     เวลาที่ใช้ทำการฝึกควรเป็นช่วงเช้ากับช่วงเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศดี มีร่ม มีลมพัดผ่าน มีอุณหภูมิและความชื้นพอดี สุนัขเป็นสัตว์ที่มีขีดความสามารถ แต่ก็มีขีดจำกัด เช่น ตอนเที่ยงของฤดูร้อน ซึ่งมีอากาศร้อนจัด สุนัขก็คงไม่ค่อยอยากจะทำการฝึกหรือทำตามคำสั่ง และอาจจะเกเรดื้อรั้นในขณะทำการฝึก โดยวิ่งหลบเข้าร่มเสีย หรือขณะที่มีฝนตกหมอกลงจัด ไม่ควรนำสุนัขไปทำการฝึก เพราะผู้ฝึกและสุนัขอาจเป็นไข้หวัดได้ เวลาที่ใช้ทำการฝึกไม่ควรยาวนานมากนัก จนสุนัขเกิดความเบื่อหน่าย ขาดความสนใจ หากสุนัขขย่อหย่อนเบื่อหน่าย หรือเหนื่อยนักให้พักฝึกชั่วขณะ การพักช่วยคลายเครียดให้กับสุนัขได้ การฝึกสุนัขผู้ฝึกต้องใจเย็น ต้องยอมให้เวลากับการฝึก ไม่ใช่รีบร้อนจะฝึกให้เป็นในวันสองวันต้องใช้เวลาเป็น 2 เดือน 3 เดือน หรือมากกว่า ก็ต้องยอมเสียเวลา

12.อายุ (Age)

                      สุนัขที่จะฝึกควรมีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป หากทำการฝึกสุนัขที่มีอายุน้อย ก็เหมือนการฝึกสอนเด็กเล็กๆ ซึ่งยังไม่ค่อนจะมีความพร้อม ยังไม่ค่อยสนใจการฝึกยังอยากเล่น การฝึกก็อาจจะได้ผลน้อยหากมีความจำเป็นจะต้องทำการฝึกสุนัขที่มีอายุน้อยๆ ขอให้ทำการฝึกอย่างนุ่มนวล รอบคอบ ค่อยๆฝึก และควรเลือกท่าฝึกด้วย ท่าที่เป็นอันตรายควรงดเว้น เช่น กระโดดบ่วงสูง ข้ามสิ่งกีดขวางที่ยากๆ

13.สถานที่ฝึก (Training site)



                      ควรสะอาด สะดวก ปลอดภัย ไม่มีสิ่งรบกวน หรือมีสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจของสุนัข เช่นสนามหญ้าในบ้าน ใต้ร่มไม้ หรือาคารกว้างๆ ควรมีรั้วรอบขอบชิด เพื่อใช้สำหรับฝึกสุนัขใหม่ที่มีความปราดเปรียว เพื่อไม่ให้มันวิ่งหลบหนีไปไหนได้ ส่วนสุนัขเก่าที่เข้ากับเจ้าของได้ดีแล้วนั้น การฝึกสุนัขที่ดีควรมีควรมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ฝึกบ้าง เพื่อให้สุนัขเกิดความมั่นใจในพื้นที่ต่างๆ ไม่จำเจ แต่ในสภาพแวดล้อมพื้นที่เดิมๆ สุนัขบางตัวฝึกอยู่แต่ที่เดิมประจำ พอนำไปออกงานสาธิต หรือนำไปฝึกที่อื่น สุนัขไม่ยอมทำเลย

14.สายตา (Eyes)

                       ขณะที่ทำการฝึก สุนัขบางตัวจะมองตาผู้ฝึกไปด้วย สุนัขประเภทนี้จะฝึกง่าย สนใจการฝึกดีกว่าสุนัขประเภทที่ผู้ฝึกสั่งไปสุนัขมองไปทางอื่น สุนัขบางตัวจะเปลี่ยนท่าหรือจะสิ่งหนีพอผู้ฝึกจ้องมองโดยใช้สายตาที่แข็งกว้าง ดวงตาที่เข้มแข็งก็สามารถหยุดสยบทำให้สุนัขยำเกรงยินยอม ไม่เปลี่ยนท่าหรือวิ่งหนีไป และก็มีสุนัขบางตัวกำลังเห่าหอนส่งเสียงร้องส่งเดชอย่างไม่มีเหตุผล พอเห็นสายตาของผู้ฝึกก็หยุดเห่าหอนลงได้


วิโชติ สังขวร. "หลักการฝึกสุนัข" ใน คู่มือการฝึกสุนัขด้วยตนเอง . หน้า 3-11. นครปฐม . เพชรเกษมการพิมพ์.2544.






Creative Commons License
dogtraining by Kate Thitikan is licensed under a
Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivs 3.0 Thailand License.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น